ข่าวสารองค์กร

Pranda Groupขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน…เพื่อโลกที่ยั่งยืน

17 ม.ค. 23

บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชนหรือ แพรนด้า กรุ๊ป” ในฐานะผู้ผลิต จัดจำหน่ายและค้าปลีกเครื่องประดับ และผู้นำการส่งออกเครื่องประดับอัญมณีของไทย ที่มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อการเป็นสมาชิกที่ดีของชุมชน สังคม และโลกของเรา โดยยึดแนวทางปฏิบัติการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ครอบคลุมทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสิ่งแวดล้อม

            เป็นที่ทราบกันดีว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของโลก ที่ทุกภาคส่วนต้องหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างผลกระทบต่อมนุษย์เท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศ ถ้าไม่รีบดำเนินการแก้ไขอาจเป็นภัยคุกคามต่อการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้

            ดังนั้น ปัจจุบันหลายบริษัทในภาคอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับได้หันมาให้ความสำคัญกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น โดยการปรับกระบวนการผลิตและหันมาใช้พลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศตลอดห่วงโซ่อุปทาน

            แพรนด้า กรุ๊ป ได้ตระหนักถึงความรับผิดชอบดังกล่าว จึงได้กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กรสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค..2050 โดยมีแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยการผลิตให้ได้ 15% ภายในปี ค..2024 และ 25% ภายในปี ค..2030โดยมีแนวทางการดำเนินงานเเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว อาทิ

            1. การบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งระบบไฟแสงสว่างและระบบเครื่องปรับอากาศ

            2. การจัดการน้ำ โดยการนำน้ำทิ้ง (Concentrate) จากเครื่องผลิตน้ำ RO (Reverse Osmosis) มาใช้ประโยชน์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) จากการผลิตน้ำประปา

            3. การจัดการขยะ ของเสีย และมลพิษอย่างมีมาตรฐาน เพื่อไม่ให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การจัดตั้ง “ธนาคารขยะ” เพื่อส่งเสริมการคัดแยกขยะ และการนำขยะรีไซเคิลมาใช้ประโยชน์ใหม่ รวมทั้งสนับสนุนการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ ทดแทนการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 

            4. การจัดการเพื่อลดปัญหาก๊าซเรือนกระจก จากกระบวนการผลิต การบริหารจัดการสำนักงานเพื่อการประหยัดพลังงาน รวมถึงการวางแผนจะติดตั้งระบบโซล่าร์ผลิตไฟฟ้า การติดตั้งอุปกรณ์ช่วยประหยัดพลังงาน และการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น            ถึงเวลาแล้วที่ภาคเอกชนจะต้องให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยการใช้เทคโนโลยีในการปรับกระบวนการผลิตและการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อสร้างกระบวนการดำเนินงานที่ยั่งยืนและลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกในระยะยาวอีกด้วย